โครงการ สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน

โครงการ สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน



1. หลักการและเหตุผล      
การปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตจากแบบดั้งเดิมหรือแบบเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาระบบหรือยกระดับการผลิตที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร  นับว่าเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทยอีกแนวทางหนึ่ง ธนาคารจึงเห็นควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตภาคเกษตร เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ  รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการกระบวนการผลิตและลดความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ ตลอดจนมีการเลือกผลิตสินค้าเกษตร
ที่มีโอกาสทางการตลาด ร่วมกับการวางแผนและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดและผู้บริโภคโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาความผันผวนของราคาและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคเกษตรให้มีความยั่งยืน บนฐาน
ของความรู้และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

2. คุณสมบัติของผู้กู้         
2.1 เป็นเกษตรกร ที่ขอกู้เงินตามข้อบังคับฉบับที่ 44
2.2 เป็นบุคคล หรือผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) หรือวิสาหกิจชุมชน หรือองค์กร ที่ขอกู้เงินตามข้อบังคับฉบับที่ 45
2.3 เป็นกลุ่มเกษตรกร ที่ขอกู้เงินตามข้อบังคับฉบับที่ 23 หรือฉบับที่ 26
2.4 เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร ที่ขอกู้เงินตามข้อบังคับฉบับที่ 26 หรือ ฉบับที่ 31 ข้อ 2 (2) 

3. วัตถุประสงค์
การกู้เงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการปรับโครงสร้างการผลิตหรือปรับเปลี่ยนการผลิตจากแบบดั้งเดิมหรือแบบเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตรูปแบบใหม่ หรือพัฒนาระบบหรือยกระดับการผลิตที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตรหรือสินค้าเกษตร

4. วงเงินกู้ขั้นสูง  
ให้เป็นไปตามข้อบังคับของธนาคารฉบับที่ 23  26  31  44  และ 45

5. อัตราดอกเบี้ย  
5.1 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับฉบับที่ 44 และบุคคลที่ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับฉบับที่ 45 ในปีที่ 1 - 3 คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR – 1 และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR
5.2 ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และองค์กรที่ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับฉบับที่ 45 กลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับฉบับที่ 23 และสหกรณ์การเกษตรที่ขึ้นทะเบียนตามข้อบังคับฉบับที่ 31 ในปีที่ 1 - 3 คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR – 0.5 และตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไปคิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR

6. ระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้  
6.1 กรณีเป็นการกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ให้กำหนดชำระหนี้คืนเสร็จไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันกู้ เว้นแต่มีเหตุพิเศษให้ชำระคืนเสร็จไม่เกิน 18 เดือน
6.2 กรณีเป็นการกู้เงินเพื่อเป็นค่าลงทุน ให้กำหนดชำระหนี้คืนเป็นรายเดือน หรือรายไตรมาส หรือราย 6 เดือน หรือรายปี ตามความสามารถในการชำระหนี้และที่มาแห่งรายได้ของลูกค้า โดยให้ชำระหนี้คืนเสร็จไม่เกิน 15 ปีนับแต่วันกู้

7. หลักประกันเงินกู้          
7.1 ให้ใช้หลักประกันหนี้เงินกู้เป็นไปตามข้อบังคับและวิธีปฏิบัติปกติของธนาคาร เป็นลำดับแรก
7.2 กรณีมีเหตุอันควรผ่อนผัน ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเงินกู้มีอำนาจลดหย่อนหลักประกันได้  ดังนี้
     1) กรณีผู้กู้ใช้ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้ ให้กู้ได้  ไม่เกินร้อยละ 100 ของวงเงินจดทะเบียนจำนอง
     2) กรณีผู้กู้ใช้หลักประกันประเภทบุคคลตั้งแต่ 2 คน  ขึ้นไป ค้ำประกันหนี้เงินกู้ เมื่อรวมกับวงเงินกู้ทุกสัญญาที่ใช้หลักประกันประเภทเดียวกันนี้แล้ว ให้กู้ได้ไม่เกิน 300,000 บาท
     3) กรณีใช้หลักประกันตามข้อ 1) หรือ 2) แล้วไม่เพียงพอ และกรณีที่ธุรกิจนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขของการค้ำประกันกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อตามโครงการได้และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ปกติของธนาคาร

8. เป้าหมายและระยะเวลาการดำเนินโครงการ 
8.1 วงเงินให้สินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท
8.2 ระยะเวลาให้เงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561  ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

******************************
ช่องทางการติดต่อ
ติดต่อธนาคาร :     เวลาทำการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 15.30 น.
ที่อยู่ :                    ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เลขที่ 2346 ถนนพหลโยธิน
                            แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ :               ธ.ก.ส. Call Center 0-2555-0555 บริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน
                            ศูนย์บริการลูกค้า 1593 บริการ ในวันและเวลาทำการ

                            สำนักงานใหญ่ 0-2558-6555

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รับซื้อลดเช็คผลิตผล(อ้อย) และเช็คค่าบำรุงอ้อย(เช็คเกี๊ยว)

โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Credit) สำหรับผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) และสหกรณ์

โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราภายใต้แนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ